ควายธนู



ควายธนู เป็นเครื่องรางที่สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรม อันมีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้าว เลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานด้านการเกษตร วิชาเหล่านี้ที่นิยมมีทั้งวัวธนูและควายธนู สร้างได้หลายวิธี เช่น สานจากไม้ไผ่ ปั้นด้วยดินผสมมวลสาร ปั้นจากขี้ผึ้ง บ้างก็หล่อขึ้นด้วยโลหะอาถรรพ์ เช่น ตะปูโลงศพเจ็ดป่าช้า ,เหล็กขนันผีพราย ,เหล็กยอดเจดีย์ เป็นต้น เอามาหลอมรวมกันหล่อเป็นรูปควาย บางสำนักใช้โครงเป็นไม้ไผ่แล้วพอกด้วยครั่งที่ได้จากต้นพุททรา เมื่อทำสำเร็จแล้วต้องปลุกเสกตามพิธีกรรม แล้วเลี้ยงไว้ให้ดี ต้องหาหญ้าและน้ำเลี้ยงเสมอ 

เชื่อว่าสามารถใช้ให้เฝ้าบ้านหรือไร่นา ใช้งานได้ตามความประสงค์ ทั้งป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย สามารถสั่งให้ไปสังหารคู่อริได้อีกด้วย โดยมีคาถาใช้เสกเมื่อทำควายธนูว่า โอมปู่เจ้าสมิงไพร ปู่เจ้ากำแหงให้กูมาทำควาย เชิญพระอีศวรมาเป็นตาซ้าย เชิญพระอาทิตย์มาเป็นตาขวา เชิญพระนารายณ์มาเป็นเขา เชิญพระอินทร์เจ้าเข้ามาเป็นหาง เชิญพระพุทธคีเนตร์ พระพุทธคีนายมาเป็นสีข้างทั้งสอง เชิญพระจัตตุโลกบาลทั้งสี่มาเป็นสี่เท้า เชิญฝูงผีทั้งหลายเข้ามาเป็นไส้พุง นะมะสะตีติ

ความเชื่อเรื่องควายธนูมีอยู่ทุกภาคในประเทศไทย บางท้องถิ่นเชื่อว่าผู้เลี้ยงต้องดูแลอย่างดีหมั่นให้อาหารและปล่อยออกไปท่องเที่ยว จะประมาทหลงลืมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นควายธนูจะหวนมาทำร้ายเจ้าของเสียเอง แต่บางแห่งก็ถือเป็นเครื่องรางธรรมดาสำหรับใช้พกพาติดตัว การสานวัวหรือควายธนูที่ทำจากไม้ไผ่นั้นมีแบบมาจากสายพ่อค้า การทำธนูมือแต่วัวหรือควายธนูนี้จะแรงมากก็คือการปราบเสือเย็น(เสือสมิง)และยังใช้ทำน้ำมนต์ประพรมสิ่งของขายดีต่างๆเพราะแบบนี้จึงเป็นสายพ่อค้าแต่แบบไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน อาจต่างที่รูปมวลสารอาจเป็นผงเป็นโลหะไม้ไผ่แล้วแต่เจตนาผู้สร้าง

โขมด



 โขมดเป็นผีชนิดหนึ่งในจำพวกผีกระสือ เพราะไปไหนมีแสงเรืองวาวในเวลากลางคืน ในที่ซึ่งมีน้ำขัง นัยว่ามันไม่ทำอันตรายใครเหมือนผีโพลงหรือผีกระสือ นอกจากลวงคนให้หลงผิดเท่านั้น นึกว่ามีคนถือไฟหรือจุดไฟอยู่ข้างหน้า ถ้าตามดวงไฟไป พอเข้าใกล้มันจะหายแสง แล้วปรากฏเป็นดวงไฟอีก อยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังแล้วแต่มันจะหลอก

 ตำนานเล่าว่า โขมดดงนั้นคือคนที่ล้มตายในป่าดงแล้วสิงสู่อยู่ที่นั่น มีทั้งดุร้ายน่ากลัวพอๆ กับโขมดป่า กับชอบปรากฏกายในรูปร่างแปลกๆ มาหลอกหลอนผู้คนให้ขวัญหนีดีฝ่อ แทบไม่เลือกว่ากลางวันหรือกลางคืน สัมว์จำพวกค้างคาวผี, งูเจ้าที่, หมาปีศาจ เชื่อกันว่าเกิดจากอำนาจของโขมดดงทั้งสิ้น

 เล่าขานกันว่า คนที่จำเป็นต้องเดินป่าตอนกลางคืน หรือนอนค้างอ้างแรมที่นั่น รวมทั้งพวกที่ออกไปจับกบจับเขียดหลังฝนตกตอนค่ำ มักจะเจอโขมดในรูปของดวงไฟลอยวูบวาบ มองเผินๆ เหมือนมีคนถือโคมไฟเดินเข้ามาหา แต่พอเข้ามาใกล้ๆ ยังไม่ทันเห็นหน้าค่าตาก็หายวับไปแล้ว บางคนจับกบเขียดได้เต็มข้อง เมื่อกลับบ้านเปิดออกดูกลับไม่มีกบเขียดหลงเหลืออยู่เลย เพราะโขมดมาเงียบไปเงียบ ล่าเหยื่อรวดเร็วและไร้ร่องรอย

เกียรติมุข



 เกียรติมุข หรือ กาล หลายคนมักอาจสับสนกับราหู แต่แท้ที่จริงแล้วหน้ากาล มีตำนานที่เป็นผู้ปราบราหู 

 เรื่องราวของกาล เกิดในเรื่องเล่าฮินดูจากวัฒนธรรมขอม เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งมีอสูรที่มีฤทธิ์มาก ชือ ชลันธร (ชลันฮา) เกิดจากไฟของพระศิวะ มีนิสัยระรานไปทั้งสามโลก สมคบกับราหูว่าอยากได้นางปารวดี(ชายาพระศิวะ)มาเป็นชายาของตน จึงส่งราหูไปขอพระศิวะแบบไม่เกรงใจ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระศิวะโกรธจนมีอสูรกายหน้าตาน่ากลัวมีนามว่า "กาล" เกิดขึ้นมาจากความโกรธของพระองค์
และตรงเข้าจะกินราหู ราหูเห็นท่าไม่ดีจึงรีบขอขมาด้วยความหวาดกลัว พระศิวะจึงสั่งให้กาลหยุดเสียก่อนและไว้ชีวิตราหู กาลเมื่อหยุดไล่ล่าราหูก็เริ่มหันมากัดกินตัวเองด้วยความโกรธและหิว กินจนเหลือแต่เพียงใบหน้าและแขน พระศิวะเห็นดังนั้นก็คำนึงว่า ความโกรธนั้นเป็นสิ่งน่ากลัวที่ทำลายทุกสิ่งแม้กระทั่งตัวของมันเอง พระองค์จึงแต่งตั้งหน้ากาลให้นามใหม่ว่าเกียรติมุข ซึ่งหมายถึงหน้าอันมีเกียรติ 
คอยทำหน้าที่เฝ้าซุ้มประตูวิหาร ภายหลังจากเหตุการณ์นั้นพระศิวะก็สามารถปราบอสูรชลันธรได้สำเร็จ 

 นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับเกียรติมุขในมุมมองของศาสนาพุทธ ที่หมายถึง เวลา ที่กินทุกสิ่ง เพื่อเตือนให้มนุษย์ได้ลงมือทำวันนี้ให้ดีที่สุด การทำสิ่งใดด้วยอารมณ์โทสะแม้จะมีอำนาจดูดุดัน แต่มันก็กัดกินตัวของมันเองเช่นกัน 

 กุมารทอง



 กุมารทอง เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ของไทยเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ที่มาของกุมารทองมาจากการเลี้ยงภูติผีปีศาจไว้ใช้งาน โดยกุมารทองจะเป็นวิญญาณของเด็กผู้ชาย หากเป็นวิญญาณผู้หญิงที่คนเลี้ยงไว้จะเรียกว่า "โหงพราย"

 กุมารทองนั้นแรกเริ่มมาจากวิญญาณของเด็กที่ตายในท้องแม่หรือที่เรียกว่าตายทั้งกลม ผู้มีวิชาอาคมจะไปนำพาวิญญาณเด็กนั้นมาเลี้ยงไว้เป็นลูก จากหลักฐานที่พบ ในเอกสารโบราณระบุถึงการทำกุมารทองสรุปว่า ต้องหาศพที่ตายทั้งกลม แล้วประกอบพิธีกรรมผ่าเอาศพทารกในท้องนั้นมาย่างไฟให้แห้งสนิทก่อนรุ่งอรุณ แล้วจึงลงรักปิดทองให้ทั่ว ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่ากุมารทอง ต่อมาสังคม วัฒนธรรมพัฒนามากขึ้น ทำให้สร้างกุมารทองจากศพทารกจริงๆได้ยาก จึงได้มีการดัดแปลงกรรมวิธีการสร้างกุมารทองขึ้น โดยใช้ดินเจ็ดป่าช้าบ้าง ไม้รักซ้อนหรือไม้มะยมบ้าง ไปจนถึงโลหะ มาสร้างเป็นรูปกุมาร แล้วปลุกเสกตั้งจิต ตั้งธาตุทั้ง 4 และเรียกอาการสามสิบสองให้บังเกิดเป็นจิตวิญญาณของเด็กขึ้นมา

 กุมารทองปัจจุบันนิยมสร้างเป็นรูปเด็ก ลักษณะเป็นเด็กไว้จุก นุ่งโจงกระเบนอย่างโบราณ กลายเป็นเครื่องรางของขลัง ผู้บูชาต้องเลี้ยงดูเหมือนลูกของตน ต้องให้ข้าวน้ำเซ่นสรวงและต้องเรียกให้กินข้าวด้วย กล่าวกันว่าหากปฏิบัติดูแลดีกุมารทองก็จะช่วยค้ำคูณ ช่วยคุ้มครองเจ้าของและครอบครัวจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ทำมาค้าขึ้น ไปจนถึงเตือนภัยล่วงหน้า และจะคอยติดตามเฝ้าระวังบ้านเรือนจากโจรผู้ร้ายและศัตรูไม่ให้มากล้ำกราย ปัจจุบันผู้บูชานิยมไหว้ด้วยน้ำแดง